Bope เปลี่ยนขยะพลาสติกเหลือใช้ เป็นงานดีไซน์รักษ์โลก
งานวิจัย The United States’ contribution of plastic waste to land and ocean ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ฉบับวันที่ 30 ต.ค. 63 ระบุว่า ในปี 2559 สหรัฐอเมริกา สร้างขยะพลาสติกมากถึง 42 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดในโลก
แม้ปัจจุบัน จะมีการลดใช้พลาสติกโดยเฉพาะประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ปัญหาขยะยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข การนำพลาสติกที่รีไซเคิลได้ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 7 ประเภท เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จำเป็นต้องได้รับการแยกประเภทอย่างถูกต้องก่อนที่จะแปรรูปเพื่อให้สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการรีไซเคิล ยังพบว่ามี พลาสติกที่มีการปนเปื้อน เช่น มีขยะติดมา หรือสีสกรีน ซึ่งไม่สามารถเอาไปผลิตเป็นเมล็ดพลาสติกใหม่กลับคืนสู่อุตสาหกรรมได้ จึงเป็นที่มาของ “Bope” (โบเป) สตูดิโอเล็กๆ ในเชียงใหม่ ที่รับขยะพลาสติกและเศษพลาสติกมาบดย่อยและหลอมให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่หลากหลายประเภท อาทิ จานรองแก้ว กระเบื้อง กระเป๋า เหรียญรางวัล ฯลฯ โดยไอเดียของ ศุภฤกษ์ ทาราศรี และ เปมิกา สุตีคา ที่มีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจรับซื้อขยะและพบปัญหาดังกล่าว กลายเป็นโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรให้ขยะเหล่านี้ สามารถสร้างคุณค่าให้ได้
คุณโบว์ –เปมิกา อธิบายว่า พลาสติกที่มีการปนเปื้อน มีขยะติดมา หรือสีสกรีน ไม่สามารถเอาไปผลิตเป็นเมล็ดพลาสติกใหม่กลับคืนสู่อุตสาหกรรมได้ ปี 2559 จึงเริ่มลองหาข้อมูลวิธีการรีไซเคิล กระทั่งได้รู้จักกับ Dave Hakkens นักออกแบบชาวดัตช์ ที่ให้ความสนใจและเห็นคุณค่าของพลาสติก โดยสร้างเครื่องรีไซเคิลพลาสติกระดับครัวเรือน และเป็นผู้ก่อตั้ง Precious Plastic ออนไลน์คอมมูนิตี้สำหรับคนที่สนใจและอยากเริ่มรีไซเคิลพลาสติกด้วยตัวเอง ในประเทศเนเธอร์แลนด์
จากการพูดคุยได้มีการนำต้นแบบ Injection Machine หรือเครื่องฉีดพลาสติก ใช้ในกระบวนการขึ้นรูป มาทดลองสร้างเครื่อง และนำพลาสติกที่มีอยู่ วัสดุเหลือใช้ภายในบ้าน ลองผิดลองถูก เอามาหลอม เป็นผลิตภัณฑ์ง่ายๆ โดยใช้เวลากว่า 1 ปี จึงเริ่มผลิตเป็นจานรองแก้ว นำไปวางขายตามตลาดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สนใจเกี่ยวกับ Eco Product และพัฒนาสินค้าใหม่ๆ กระทั่งได้ไปจัดแสดงที่งาน Ducth’s design week ประเทศเนเธอแลนด์ นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนักออกแบบชาวมาเลเซีย Joshua Teo โดยผลงานแสดงที่ River of Life, Masjid Jamek , Klula Lumpur
“พลาสติกที่รีไซเคิลได้มีกว่า 7 ประเภท ซึ่งทางร้านนำมารีไซเคิล คือ ชนิดที่ 2, 4 และ 5 อาทิ ฝาขวดน้ำ ถัง กะละมัง พลาสติกแข็ง และถุงพลาสติก เน้นพลาสติกแข็ง แต่ละผลิตภัณฑ์จะใช้พลาสติกแตกต่างกัน และมีการรีไซเคิลที่แตกต่างกัน เช่น ที่รองแก้ว กระเบื้องติดผนัง กระถางต้นไม้ ถาดวางของ ฯลฯ ทำมาจากฝาขวด หรือถัง สำหรับกระเป๋า ทำมาจากถุงพลาสติกแบบขุ่นที่มีสีสัน โดยต้องผ่านกระบวนการขัด ทำความสะอาดก่อนนำมาใช้งาน”
คุณโบว์ เล่าต่อไปว่า จุดเด่น ของสินค้าที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล คือ มีชิ้นเดียวในโลก เราไม่สามารถทำให้ซ้ำเหมือนเดิมได้ ไม่สามารถก็อปปี้เหมือนงานอุตสาหกรรมได้ กระเป๋าก็เช่นกัน เวลาที่ตัดถุงพลาสติก รีด วาง Texture จะทำให้ไม่เหมือนเดิมเพื่อจะได้มีชิ้นเดียว
ขณะเดียวกัน ข้อจำกัด ของพลาสติก คือเรื่องสี บางครั้งลูกค้าอยากได้สีพิเศษ เช่น สีสะท้อนแสง สีส้ม หรือ สีชมพู แต่พลาสติกสีชมพูค่อนข้างหายาก เนื่องจากสีจริงของพลาสติกส่วนใหญ่จะมีสีฟ้า เขียว ดำ แดง ขาว เป็นพื้นฐานที่ใช้ ดังนั้น จึงต้องอธิบายว่า กระบวนการผลิตไม่ได้เป็นการแต้มสีลงไป แต่เป็นสีจริงของพลาสติก นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา เพราะใช้เวลาค่อนข้างนาน เช่น จานรองแก้ว 1 แผ่น ใช้เวลาหลอม 15-20 นาที เพราะเป็นงาน Handmade
หากนับย้อนไป 4 – 5 ปี ที่ผ่านมา แม้การผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ Bope จะใช้พลาสติกไปแล้วปีละกว่า 1 – 1.5 ตัน แต่ปัจจุบัน คุณโบว์ เล่าว่า สต๊อกพลาสติกยังคงเหลือตั้งแต่ทำธุรกิจแรกมากกว่า 1 ตัน ซึ่งมีจำนวนมากจนตอนนี้ก็ยังใช้ไม่หมด เพราะจานรองแก้ว 1 ชิ้น ใช้พลาสติกราว 70 กรัม ขณะเดียวกัน ในการไปเวิร์คช็อปก็มีคนที่นำมาให้หรือส่งไปรษณีย์มาให้ค่อนข้างมาก หรือการเข้าร่วมอีเว้นต์ต่างๆ ก็มีกล่องรับพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ นับว่า Eco Product ได้รับความสนใจจากต่างชาติพอสมควร โดยส่วนใหญ่เป็นส่งออกต่างประเทศทั้งฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ขณะที่ปีที่ผ่านมา มีโควิด-19 การส่งออกต่างประเทศลดลง แต่กลายเป็นว่าได้รับความสนใจจากในประเทศมากขึ้น เช่น องค์กรใหญ่ๆ นำไปทำของพรีเมียมให้ลูกค้า หรือทำงานร่วมกับสถาปนิกตกแต่งภายใน เช่น ร้านคาเฟ่อเมซอน ของ ปตท. ทำกระเบื้องติดผนัง ภาพนกแก้วมาคอร์ หรือ ไทยเบฟเวอเรจ ที่ส่งฝาขวดน้ำมาทำโล่ ทำให้มีโอกาสได้ผลิตสินค้าหลากหลาย รวมถึงหลายองค์กรให้ความสำคัญกับขยะพลาสติก โดยส่งขยะมาให้รีไซเคิล และเอากลับไปเป็นของชำร่วย
สำหรับเป้าหมายต่อไป คุณโบว์ กล่าวว่า อยากจะทำให้ Signature ของแบรนด์ชัดเจนขึ้น มีการพัฒนาสินค้าชิ้นใหญ่ขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ สร้างมูลค่าได้มากขึ้น ให้ตลาดในไทยเห็นถึงตัวสินค้านี้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ในแง่ของผลิตภัณฑ์ แต่เป็นในแง่ของความเข้าใจในเรื่องของขยะ
นอกจากนี้ ตั้งเป้าจัดเวิร์คช้อปให้มากขึ้นเพื่อให้คนเข้าถึงและเข้าใจในเรื่องการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ รวมถึงมองในแง่ของการส่งประกวดในงาน MILAN DESIGN WEEK ซึ่งติดต่อมาให้ส่งประกวดทุกปีแต่ยังไม่มีโอกาส ดังนั้น หากมีโอกาสได้เข้าร่วม แม้ไม่ได้รางวัลแต่อย่างน้อย อยากให้แบรนด์ไทยได้มีโอกาสได้ไปโชว์ในระดับนานาชาติ
ปัจจุบัน สินค้าของ Bope ในกทม. มีวางจำหน่ายที่ สวนจตุจักร สยามพารากอน ร้าน BROCCOLI REVOLUTION สุขุมวิท รวมถึง ภูเก็ต หัวหิน เชียงใหม่ ช่องทางออนไลน์ทั้งทางเฟซบุ๊ค และ อินสตาแกรม
พลาสติกรีไซเคิลได้7ประเภท
สำหรับพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ มีทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่
1. Polyethylene Terephthalate : PETE เช่น ขวดน้ำ ขวดน้ำมันพืช
2. High-density Polyethylene : HDPE เช่น ขวดแชมพู ถุงพลาสติก ถังขยะ
3. Polyvinyl Chloride : PVC ได้แก่ ท่อน้ำประปา ฉนวนหุ้มสายไฟ
4. Low-density Polyethylene : LDPE ได้แก่ ถุงใส่ของ บรรจุอาหารแช่แข็ง แผ่นฟิล์ม
5. Polypropylene : PP เช่น บานพับ ฝาขวด ภาชนะบรรจุอาหาร ถุงร้อน และหลอดดูด
6. Polystyrene : PS ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ถ้วย จาน และกล่องโฟม
7. พลาสติกอื่น ๆ (Other) เช่น ปากกา ขวดนมเด็ก หมวกนิรภัย ไฟจราจร ป้ายโฆษณา
ทั้งนี้ สามารถแยกทิ้งตามประเภทพลาสติกโดยสังเกตจากสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ ทำความสะอาดด้วยน้ำเล็กน้อย และขวดน้ำควรแยกทิ้งระหว่างฝากับขวดเพราะเป็นพลาสติกต่างชนิดกัน
———-
ภาพประกอบ : ฺBope Shop